วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ความปลอดภัยที่ไม่ควรมองข้าม

ศ. ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ความปลอดภัยที่ไม่ควรมองข้าม

Cover Story

แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลังจากเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว Wenchuan ขึ้นในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับล้านคน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีนเป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกที่มีแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น หากพิจารณาย้อนกลับไปถึงภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ และเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ห่างกันไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอร์ริเคนแคทรินา ที่รัฐนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และพายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า ก่อนที่ล่าสุดจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน

สำหรับในประเทศไทย นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างตระหนักถึงความรุนแรงของการเกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแผ่นดินไหว ซึ่งศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำ ประกอบกับภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง จนทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่ค่อนข้างปลอดจากภัยธรรมชาติ เป็นประเทศที่มีภัยธรรมชาติรุนแรงประเทศหนึ่งทีเดียว ดังนั้น การเตรียมพร้อมอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแผ่นดินไหว เพื่อให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด จึงเป็นมาตรการบรรเทาภัยที่มีความสำคัญยิ่ง

การออกแบบโครงสร้างอาคารที่ดีต้องมีความสมมาตร

ศ. ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักการออกแบบโครงสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหวต้องคำนึงถึงระบบโครงสร้าง (Structure), การยึดชิ้นส่วนต่างๆ (Anchorage), การยึดโยงโครงสร้าง (Bracing), ข้อต่อ (Connection) และความเหนียวของโครงสร้าง (Ductility) เป็นสำคัญ

“โครงสร้างของอาคารต้านทานแผ่นดินไหวจะต้องมีรูปทรงที่ดี มีรูปทรงที่สมมาตร เพราะหากอาคารมีรูปทรง หรือโครงสร้างที่ไม่ดี แรงจากแผ่นดินไหวที่มากระทำต่อโครงสร้างจะทำให้อาคารได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ลักษณะของอาคารที่มีระบบโครงสร้างที่ไม่ดี คือ ชั้นล่างมีพื้นที่เปิดโล่ง เป็น Soft Story และมีเสาสั้น ซึ่งพบว่าในประเทศไทยมีอาคารลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอาคารโรงเรียน โรงพยาบาล และอาคารสาธารณะอื่นๆ ซึ่งควรได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้มีโครงสร้างอาคารที่แข็งแรง เพราะตามหลักการอาคารเหล่านี้ควรจะต้องมีสมรรถนะที่ดีกว่าอาคารทั่วไป เนื่องจากต้องสามารถใช้เป็นอาคารหลบภัย บรรเทาสาธารณภัยได้ด้วย”

ทั้งนี้การปรับปรุง แก้ไขอาคารโรงเรียน โรงพยาบาล หรืออาคารสาธารณะที่มีชั้นล่างเปิดโล่ง เป็น Soft Story สามารถดำเนินการได้ โดยสร้างผนังเพิ่มขึ้นด้านละหนึ่งผืน และใส่ฐานรากเสริมเข้าไป เพื่อให้อาคารมีโครงสร้างที่แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก

อาคารต้านทานแผ่นดินไหวต้องมีความเหนียว รับแรงสั่นไหวและแรงโยกได้
ศ. ดร. ปณิธาน ได้กล่าวต่อไปว่า อาคารต้านทานแผ่นดินไหวจะต้องมีการยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอาคารที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น สะพาน ตัวคานสะพานหรือพื้นสะพานต้องได้รับการออกแบบให้มีการยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันมิให้ตัวอาคารหลุดออกจากฐานรองรับ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและอาคารได้รับแรงสั่นไหวไปมา ซึ่งต้องยอมรับว่าในประเทศไทยนั้นมีทั้งสะพานและทางด่วนที่ไม่ได้รับการออกแบบเพื่อป้องกันการหลุดของพื้นหรือคานออกจากฐานรองรับ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข โดยใส่ตัว Stopper เพื่อมิให้คานหรือพื้นสะพานหลุดออกจากฐานรองรับ

สำหรับอาคารโครงสร้างเหล็ก หรือโครงสร้างไม้ควรจะต้องมีการยึดโยงทแยง เพื่อให้รับแรงด้านข้างได้ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงข้อต่อของอาคาร ให้สามารถยึดรั้งชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน และถ่ายแรงจากชิ้นส่วนหนึ่งไปสู่อีกชิ้นส่วนหนึ่งได้

นอกจากนี้ โครงสร้างของอาคารต้านทานแผ่นดินไหวยังต้องมีความเหนียว ทนต่อแรงโยกของแผ่นดินไหวได้ โดยที่ไม่เสียกำลังหรือยังคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ได้ โดยใส่ปลอกรัดแกนของเสาให้มีความถี่มากขึ้น และคำนวณขาของเหล็กปลอกให้มีความยาวเพียงพอ

15 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยต้องออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้
กฎกระทรวงฉบับที่ 49 ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารว่าด้วยการก่อสร้างอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องทำการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และกาญจนบุรี ภาคกลาง 5 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อนมาก อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร เพื่อให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวมีความแข็งแรงทางโครงสร้าง สามารถต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ แต่สำหรับอาคารต่างๆ ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 49 จะมีผลบังคับใช้ เจ้าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างควรดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างให้มีความแข็งแรง เพื่อมิให้อาคารมีความเสี่ยงต่อการเสียหาย เมื่อเกิดภัยแผ่นดินไหว

ทั้งนี้การแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างอาคารสาธารณะต่างๆ ควรเลือกให้ความสำคัญกับอาคารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือโรงไฟฟ้า และอาคารเพื่อการบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สะพาน ทางด่วน เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากอาคารดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แม้ในยามเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ดังนั้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการ พร้อมทั้งจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญประเมินความแข็งแรงของอาคาร เพื่อแก้ไข ปรับปรุงให้โครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเสียหายของอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว


ศ. ดร.ปณิธาน กล่าวว่า อาคารและสิ่งปลูกสร้างจะเสียหายจากแผ่นดินไหวมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ แผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่เพียงใด

มีส่วนประกอบความถี่อย่างไร สั่นไหวนานเพียงใด จุดกำเนิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ระดับตื้นหรือลึก ใกล้กับเมืองไหม สภาพดินบริเวณที่ตั้งอาคารเป็นอย่างไร อาคารมีระบบโครงสร้างที่ดีพอหรือไม่ และที่สำคัญ คือ อาคารได้รับการออกแบบและก่อสร้างด้วยมาตรฐานอย่างไร เพราะอาคารที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างโดยไม่ได้มาตรฐานที่ดีพอ มีโอกาสจะเสียหายหรือพังทลายได้ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางประมาณ 5.5 หน่วยริกเตอร์ขึ้นไป ใกล้กับที่ตั้งอาคาร

อาคารเตี้ย ได้รับความเสียหายมากกว่าอาคารสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม มักมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าแผ่นดินไหวจะมีผลต่ออาคารสูงมากกว่าอาคารเตี้ย หากพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศประกอบ จะพบว่า อาคารเตี้ยหรือสูงไม่มากนัก (ต่ำกว่า 15 ชั้นโดยประมาณ) ที่ไม่ได้รับการออกแบบหรือก่อสร้างให้ได้มาตรฐานดีพอ ได้พังทลายมากมายในคราวแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ที่เม็กซิโกในปี พ.ศ. 2528 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ ที่ Newcastle ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2532 และแผ่นดินไหวขนาด 6.9 ริกเตอร์ ในปี พ.ศ. 2538 ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น

อาคารในประเทศไทยที่ไม่สูงมากนัก เช่น อาคารชุดที่สูงกว่าตึกแถว แต่ก่อสร้างด้วยมาตรฐานตึกแถว เป็นอาคารประเภทที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมาตรฐานการก่อสร้างต่ำ ทั้งยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดการสั่นพ้อง หากคาบการสั่นไหวที่สำคัญของพื้นดินใกล้เคียงกับคาบการสั่นไหวธรรมชาติของอาคาร แต่หากเป็นอาคารสูงที่ได้รับการออกแบบต้านทานแรงลมตามกฎกระทรวง โดยทั่วไปจะมีความต้านทานภัยจากแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ไม่พังทลายแต่เกิดความเสียหายกับโครงสร้างของอาคาร ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างว่าดีพอหรือไม่ และแผ่นดินไหวจะมีโอกาสเกิดขนาดใหญ่ได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ โครงการที่กระทำโดยรีบเร่งและขาดการติดตามตรวจสอบที่ต่อเนื่องย่อมได้อาคารที่ด้อยคุณภาพ ย่อมมีโอกาสเกิดความเสียหายหากเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรงมากนัก หรือแม้กระทั่งพังทลายได้โดยไม่ต้องมีภัยธรรมชาติ ดังเช่น โรงแรมรอยัล พลาซ่า จ.โคราช เมื่อปี พ.ศ. 2536 และอาคารห้างสรรพสินค้าซัมปุง ประเทศเกาหลี เมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 500 คน

ค่าออกแบบส่วนโครงสร้างเพิ่มขึ้นเพียง 5-15%
ศ. ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ภัยแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่แน่นอนและมีความผันผวน ทั้งยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดภัยแผ่นดินไหวได้แม่นยำด้วยศาสตร์ในปัจจุบัน การศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวยังขาดรายละเอียด ดังนั้น การไม่ตั้งอยู่ในความประมาท โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารให้สามารถต้านทานภัยแผ่นดินไหวในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้จัดทำมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนจากภัยแผ่นดินไหว (มยผ. 1301-50) เพื่อเป็นเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดการจัดรูปทรงของโครงสร้างให้มีเสถียรภาพและการจัดโครงสร้างทั้งระบบให้มีความเหนียว สามารถต้านทานภัยแผ่นดินไหวได้ โดยมีผลบังคับใช้กับอาคารที่ปลูกสร้างใหม่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย 15 จังหวัด

“การออกแบบโครงสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ภายใต้หลักเกณฑ์ มยผ. 1301-50 อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบโครงสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 5-15% หรือคิดเป็นประมาณ 5% ของมูลค่าการก่อสร้างอาคารโดยรวม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนของโครงสร้างเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าก่อสร้างในส่วนของงานสถาปัตยกรรมและงานระบบ เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา สุขาภิบาล ปรับอากาศ เป็นต้น”

ต้องมีมาตรการบรรเทาภัยรองรับการเกิดแผ่นดินไหวอย่างเท่าทัน
นอกจากการออกแบบโครงสร้างอาคารให้มีความคงทน แข็งแรง สามารถต้านทานภัยแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว มาตรการบรรเทาภัยแผ่นดินไหวก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยมาตรการที่ควรดำเนินการเพื่อให้อาคารต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับที่เหมาะสมมีดังนี้ คือ การกำหนดเขตที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวสูง เช่น บริเวณใกล้รอยเลื่อนที่มีศักยภาพในการกำเนิดแผ่นดินไหว และควรทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปลูกสร้างอาคารในบริเวณเหล่านั้น หรือหากจำเป็น ก็ควรต้องออกแบบอาคารเป็นพิเศษ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ทันกับวิทยาการใหม่ๆ รวมถึงผลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิศวกรรมแผ่นดินไหวทั้งในและต่างประเทศ ปรับปรุง เสริมความแข็งแรงอาคารสาธารณะที่จำเป็นสำหรับการยังชีพ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ ที่มีอยู่แล้วในเขตแผ่นดินไหวรุนแรง สำหรับอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่จะต้องออกแบบให้แข็งแรงเป็นพิเศษ โดยอาคารสาธารณะที่มีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากๆ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบแบบวิศวกรรมโดยอิสระจากบุคคลที่สาม

ระบบการกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตได้
เพื่อให้มาตรการบรรเทาภัยแผ่นดินไหว เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเกิดภัยแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดตั้งหน่วยสอดส่อง ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง ตลอดจนควบคุมงานของผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงาน ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพควรปลูกจิตสำนึกนักศึกษาและวิศวกร ให้ยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด รวมทั้งบรรจุวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวไว้ในหลักสูตรปริญญาตรีด้วย รวมไปถึงรัฐควรส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัยและการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังมีอยู่น้อยมากในประเทศไทยขณะนี้ อีกทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานทั่วไปและเตรียมพร้อมเพื่อบรรเทาภัย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยควรเตรียมแผนปฏิบัติการรวมถึงการซ้อมปฏิบัติการทุกขั้นตอน

ศ. ดร.ปณิธาน กล่าวว่า “ระบบการกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นเครื่องตัดสินถึงความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว เพราะแน่นอนว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีระบบโครงสร้างไม่ดีพอ ย่อมได้รับความเสียหาย หรืออาจพังถล่มลงมา สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น หากระบบการกู้ภัยมีประสิทธิภาพ ความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ภายหลังเกิดเหตุย่อมลดน้อยลงได้”

จรรยาบรรณของผู้ออกแบบและผู้ที่เกี่ยวข้องสำคัญที่สุด
การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความมีจรรยาบรรณ

จริยธรรมและจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน วิศวกรผู้ออกแบบ วิศวกรผู้ควบคุมงาน ผู้รับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการออกแบบ ก่อสร้างอาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ขณะเดียวกันก็ต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม ศ. ดร.ปณิธาน กล่าวในที่สุด


ตัวอย่างความเสียหายของโครงสร้างอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
อาคารที่ได้รับความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากระบบโครงสร้างของอาคารไม่มีความแข็งแรง เช่นอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพาน จ.เชียงราย ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5.1 ริกเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากตัวเมือง อ.พาน ราว 25 กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพาน ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ได้รับความเสียหายมีรอยแตกร้าวทแยงแบบการเฉือนในเสาสั้นกว่า 10 ต้น

อาคารที่มีลักษณะระบบโครงสร้างที่ไม่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งที่พบเมื่อเกิดภัยแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ประเทศ แต่อาคารสูงบริเวณภาคเหนือตอนบน และกรุงเทพมหานครก็รู้สึกสั่นไหวด้วย โดยมีอาคารหลังหนึ่งของโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อ. เมือง จ. เชียงราย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากในเสา คสล. จำนวน 2 ต้น โดยเกิดรอยร้าวทแยงแบบการเฉือนกว้างราว 10 มิลลิเมตร สาเหตุจากการยึดรั้งของผนังที่หล่อติดกับเสาเกือบตลอดความสูงของเสา ทำให้เกิดส่วนของเสาสั้น เป็นความเสียหายที่อันตราย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศไทย

วัน / เดือน / ปี

ขนาด
(ริกเตอร์)

จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
บริเวณที่รู้สึกสั่นไหว
(ระดับความรุนแรงเมอร์แคลลี)

พ.ศ. 2088

-

-

ยอดเจดีย์หลวงในเชียงใหม่หัก

12 เม.ย. 2510

6.1

สุมาตรา

ภาคใต้

17 ก.พ. 2518

5.6

อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ภาคเหนือ (VI) ภาคกลาง

22 เม.ย. 2526

5.9

กาญจนบุรี

จ.กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ

11 ก.ย. 2537

5.1

อ.พาน จ.เชียงราย

ภาคเหนือ (V-VI)

12 ก.ค. 2538

7.2

ประเทศพม่า

ภาคเหนือ (V-VI) รู้สึกได้ที่ กทม.

22 ธ.ค. 2539

5.5

พรมแดนไทย-ลาว

ภาคเหนือ (V-VI)

22 ก.ย. 2546

6.7

พม่า

ภาคเหนือ กทม.

26 ธ.ค. 2547

9.2 (1)

สุมาตรา

ภาคกลาง ภาคใต้

8 ต.ค. 2549

5.6

พม่า

ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม

13 ธ.ค. 2549

5.1

อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เชียงใหม่ เชียงราย

16 พ.ค. 2550

6.3 (1)

ประเทศลาว

ภาคเหนือตอนบน และ กทม. (ในอาคารสูง)

หมายเหตุ : (1) หน่วยโมเมนต์ (Mw)
ที่มา : การเตรียมพร้อมอาคารและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับภัยธรรมชาติ

0 ความคิดเห็น: